ภาษาอาหรับ กับเส้นทางฝันของรุสลัน


อัสสลามมุอะลัยกุมฯครับ น้องรุสลัน ก่อนจะเข้าประเด็นการสัมภาษณ์ในวันนี้พี่อยากให้น้องได้แนะนำตัวและกล่าวทักทายกับผู้อ่านคอลัมน์มุกอบะละห์บนบล็อกสนทนาประสาอาหรับของเราก่อนสักนิดนึงนะครับ เชิญครับ ..

วะอะลัยกุมุสลามฯ ครับ ชื่อ วุฒิพงศ์ บอซู หรือจะเรียกชื่อเล่นว่า “ต้น” ก็ได้ครับ ส่วนชื่ออาหรับก็คือ "รุสลัน" ครับ ตอนนี้ก็กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU) วิทยาเขตปัตตานี สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์  และตอนนี้กำลังฝึกงานอยู่ที่ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

เริ่มต้นกับคำถามแรกกันเลยนะครับ... 


1- ทราบมาว่าก่อนหน้านี้น้องไม่ค่อยมีพื้นฐานภาษาอาหรับมาค่อนข้างน้อยมากและเริ่มมาสนใจเรียนภาษาอาหรับอย่างจริงจังในช่วงเรียนมหาลัย’ ไม่ทราบว่าน้องมีแรงบันดาลใจหรือจุดเริ่มต้นมากจากสิ่งใดครับ?
 
แรงบัลดาลใจของผมหรอครับ คืออย่างนี้ครับ -ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-กาซา เมื่อช่วงกลางปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมานั้นทำให้ผมได้เห็นความสูญเสียและทุกข์ทรมานของพี่น้องเราที่นั้น ประกอบกับสถานการณ์สงครามกลางเมืองของประเทศซีเรียที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน จนเป็นเหตุให้เกิดการอพยพภัยสงครามของประชาชนเป็นจำนวนมาก จากจุดนั้นเองที่ทำให้ผมอยากทำงานเป็นอาสาสมัครในหน่วยบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้น แต่สิ่งแรกที่ผมจะสามารถเข้าไปปฏิบัติงานตรงจุดๆนั้นได้ นั่นก็คือคือ การที่ผมจะต้องมีความสามารถทางด้านภาษาอาหรับที่ดีเยี่ยม เพื่อใช้ในการสื่อสารในการปฏิบัติงาน ซึ่งนั่นคือ เหตุผลเพียงข้อเดียวจากแรงบัลดาลใจของผม คือ อยากทำงานอาสาเท่านั้นเองครับ 

2- สำหรับน้องแล้ว - น้องคิดว่าภาษาอาหรับมีความสำคัญอย่างไรบ้างครับ?
 
สำหรับผมน่ะครับการเรียนภาษาอาหรับนั้นมีความสำคัญมาก ซึ่งผมมีเพียง 2 เหตุผลเท่านั้นที่เลือกเรียนภาษาอาหรับ คือในฐานะของคนที่ต้องการทำงานด้านอาสาสมัครที่ต้องการเรียนรู้ภาษาอาหรับเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารในการทำงาน และสองคือในฐานะของมุสลิมคนหนึ่งที่ต้องการจะเข้าถึงอิสลามให้มากขึ้นจากการเข้าใจในภาษาอาหรับ

3- ทราบมาว่าตอนนี้น้องกำลังอยู่ในช่วงฝึกงานอยู่ในต่างประเทศ ได้ใช้ภาษาอาหรับหรือภาษาที่สองหรือภาษาที่สามบ้างรึปป่าวครับ?

ใช่ครับตอนนี้ผมกำลังฝึกงานอยู่ต่างประเทศ ซึ่งก็จะได้ใช้ภาษาที่สอง เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม คือ ภาษาอินโดนีเซีย ในการทำงานและสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ครับ แต่สำหรับภาษาอาหรับนั้นไม่ได้ใช่อะไรมากมาย แต่ก็ได้ฝึกหัด ฟัง พูด อ่าน เขียน กับเพื่อนที่มาฝึกงานด้วยกันเพราะเขาเคยเรียนมาภาษาอาหรับมาก่อน แต่อย่างไรก็ดีหากผมมีเวลาว่างผมก็จะท่องศัพท์ภาษาอาหรับบ้าง เขียนบ้าง ฟังเพลงอาหรับบ้าง และหมั่นเข้าไปเช็คในเว็บไซต์ และสื่อออนไลน์ต่างที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนภาษาอาหรับแทบทุกวันครับ

4- หลายคนอาจจะพูดว่า “ภาษาอาหรับ เป็นภาษาที่ค่อนข้างไม่น่าสนใจ เรียนยาก เรียนไปก็ไม่รู้จะไปใช้อย่างไร?” น้องคิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่านี้บ้างครับ? 
 
สำหรับผม คำถามที่กล่าวมานั้น มันก็เคยเป็นความคิดของผมในห่วงระยะเวลาที่ผ่านมาของผมเช่นกัน ที่ว่าจะเรียนไปทำไม เรียนก็ยาก เรียนแล้วได้อะไร แต่อย่างว่าล่ะครับ คนเราถ้าไม่ได้เจออะไรบางอย่างที่จะสามารถเปลี่ยนตัวเองได้แล้วก็จะไม่เห็นความสำคัญ แต่ผมมีคำพูดที่อย่างจะฝากบอกผู้อ่านก็คือ จงเรียนไปเถิดครับไม่ว่าเรียนภาษาอะไร เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าภาษาที่เราเรียนไปในวันนี้ วันหนึ่งมันอาจจะพลิกชีวิตของเราไปตลอดกาล

5- น้องมีเทคนิคหรือวิธีการเรียนภาษาอาหรับอย่างไรบ้างครับ? สุดท้ายน้องอยากจะฝากอะไรให้กับผู้ที่เริ่มหันมาสนใจหรือเลือกเรียนภาษาอาหรับเป็นภาษาที่สองหรือภาษาที่สามบ้างไหมครับ?

 เทคนิคของผมไม่มีอะไรมากหรอกครับ ขอเพียงอย่างเดียว คือ การทุ่มเทความรักลงไปในการเรียนรู้ภาษาอาหรับครับ เพราะไม่ว่ามันจะยากหนักหนาสาหัสเช่นไร เพียงแค่คุณรักมันประดุจตัวคุณแล้วไซร้ มันก็จะตอบแทนความรักที่คุณมีให้มัน สุดท้ายนี้ผมคงไม่อะไรจะกล่าวมากหรอกครับ แค่อยากจะบอกว่า “ถ้าหากวันพรุ่งนี้โลกยังไม่แตก ก็จงทำวันนี้ให้ดีที่สุด และอย่าลืมที่จะทำให้โลกในวันนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นน่ะครับ”

สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณน้องรุสลันเป็นอย่างมากที่เป็นเกียรติมาร่วมเป็นอีกหนึ่งบุคคลรักษาภาษาอาหรับในคอลัมน์มุกอบะละฮฺของเรา – ขอบคุณครับ


About Author :

วุฒิพงศ์ บอซู|  แขกรับเชิญพิเศษ
นักศึกษาปริญญาตรี สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Follow him @ | Facebook
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า