สายพิรุณ กุลวงศ์ บัณฑิตรามฯ ผู้มีความรักในภาษาและวัฒธรรมอาหรับ


1. สวัสดีครับ พี่โจ๊ก แนะนำตัวเองนิดนึงครับ...
สวัสดีค่ะ พี่ชื่อจริงว่า สายพิรุณ กุลวงศ์ หรือจะเรียกสั้นๆว่าพี่โจ๊กก็ได้ค่ะ พี่จบการศึกษาปริญญาตรีทางด้านรัฐศาสตร์ สาขาเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงค่ะ ตอนนี้กำลังศึกษาหลักสูตรเตรียมภาษาในวิทยาลัยคอลลิน (collin college) ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐ เพื่อเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาโทค่ะ
2. ทำไมพี่จึงมีความสนใจเลือกเรียนภาษาอาหรับเป็นภาษาที่สาม มีแรงบันดาลใจหรือจุดเริ่มต้นมากจากอะไรครับ?
แรงบันดาลใจในการเรียนภาษาอาหรับของพี่คืออะไร สิ่งแรกเลยคงมาจากความชอบส่วนตัวของพี่เอง คือต้องมองย้อนกลับไปในสมัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี เนื่องจากเป็นเด็กต่างจังหวัดจึงต้องอาศัยอยู่ในหอพัก และหอพักเป็นหอพักที่ติดกับมัสยิด ดังนั้นคนที่เป็นมุสลิมหรือคนที่ศึกษาทางด้านศาสนาอิสลามจะรู้ว่าในศาสนาอิสลามได้กำหนดให้มุสลิมละหมาดวันละ 5 ครั้ง พี่เป็นพุทธแต่พี่ก็รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาอิสลามเช่นกัน โดยเฉพาะทุกๆเช้าก่อนไปโรงเรียนและหลังเลิกเรียน ในระหว่างสองช่วงเวลานี้พี่มักจะได้ยินบทสวดละหมาดแทบทุกวันจนพี่ซึมซับและรู้สึกว่าเป็นบทสวดที่ไพเราะ และทำให้จิตใจสงบ
ส่วนแรงบันดาลใจถัดมาในการเรียนภาษาอาหรับคงเกี่ยวข้องโดยตรงกับสาขาที่พี่เรียน ไม่ว่าจะย้อนกลับไปเมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรีเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วหรือแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ พี่ก็ยังค่อนข้างให้ความสนใจเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นรอบโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การเมืองในตะวันออกกลาง จริงๆแล้วนักเรียนที่เรียนสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะรู้จุดมุ่งหมายและรู้ว่าตัวเองต้องการจะเรียนภาษาอะไร เพราะภาษาต่างประเทศอื่นนับว่าเป็นวิชาบังคับที่นักเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะต้องเลือกเรียน ส่วนมากที่เลือกเรียนกันก็จะเป็นภาษาหลักที่ถูกบรรจุไว้ในองค์การสหประชาชาติ เช่น อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สเปน และ อาหรับ ส่วนตัวพี่เลือกภาษาอาหรับเพราะพี่อยากจะเข้าถึงและเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับและที่สำคัญในอนาคตอันใกล้พี่เตรียมตัวเพื่อจะเรียนต่อปริญญาโททางด้าน international studies และนั่นหมายความว่าภาษาอาหรับจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่พี่เรียนมาและกำลังจะต่อยอดต่อไปค่ะ
3. การเรียนภาษาอาหรับในบ้านเรากับที่อเมริกา มีความแตกต่างกันอย่างไรครับ? แล้วทำไมพี่จึงเลือกเรียนภาษาอาหรับที่นั่นละครับ?
ถ้าถามว่าการเรียนภาษาอาหรับที่ไทยกับที่อเมริกาต่างกันอย่างไร พี่ขอพูดในมุมมองและจากประสบการณ์ที่พี่เคยเรียนมาก็แล้วกัน พี่ไม่แน่ใจว่ามหาลัยในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้หนังสือเรียนแบบไหน แต่สำหรับสาขาที่พี่เรียนหรือแม้กระทั่งวิชาภาษาอาหรับที่พี่เรียนมา อาจารย์ทุกท่านเขียนหนังสือหรือแปลด้วยตัวท่านเองค่ะ เนื่องจากสาขาที่พี่เรียนหนังสือส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษหรืออาจารย์ท่านอาจจะเล็งเห็นว่าหนังสือยังมีเนื้อหาไม่คลอบคลุมเท่าที่ควร แต่ว่าที่อเมริกาโดยเฉพาะในรัฐเท็กซัสที่พี่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นมหาลัยที่มีชื่อเสียงหรือคอลเล็จเล็กๆที่พี่เรียนก็ตาม หนังสือภาษาอาหรับที่ใช้เรียนคือมาตรฐานเดียวกันหมดกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือใช้หนังสือเรียนเหมือนกันหมดค่ะ ส่วนที่จะกล่าวถึงต่อไปคงเป็นลักษณะการเรียนการสอนเนื่องจากว่าเวลาเราเรียนที่ไทยเราก็ใช้ภาษาไทยในการเรียนอาหรับซึ่งจะทำให้เราเข้าใจและเรียนรู้ได้เร็วกว่าการเรียนภาษาอาหรับในการใช้ภาษาอังกฤษแน่นอน ทุกวันนี้พี่ยังเอาหนังสือภาษาอาหรับที่พี่เรียนที่ไทยติดตัวมาด้วยเพื่อใช้ควบคู่กันไป พี่ขอเสริมในส่วนนี้นิดนึงนะค่ะว่าการเรียนภาษาที่ไทยหรือที่อเมริกา สิ่งหนึ่งที่พี่รู้สึกว่าไม่ต่างกันเลยก็คือ เรียนหนักและการบ้านมีทุกครั้งหลังเรียนเสร็จค่ะเนื่องจากภาษาเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝน
4. สำหรับตัวพี่แล้ว .. พี่คิดว่าภาษาอาหรับมีความสำคัญอย่างไรครับ?
สำหรับตัวพี่แล้วพี่มองว่าภาษาอาหรับเป็นภาษาที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากภาษาอื่น โดยส่วนตัวแล้วพี่เป็นคนที่ไม่ชอบคิดหรือทำอะไรเหมือนคนอื่น ถ้าพูดตรงๆคนที่พี่รู้จักส่วนใหญ่ก็แทบไม่มีใครสนใจเรียนภาษาอาหรับเลย พี่มองว่าตรงนี้แหละจะส่งผลดีต่อคนที่รักและเล็งเห็นความสำคัญของภาษาอาหรับ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเรียนรู้และสามารถใช้ภาษาอาหรับได้คล่องแคล่ว โอกาสที่เราจะได้งานอย่างที่เราใฝ่ฝันก็สูงตาม ถึงแม้ว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่เริ่มจะหันมาให้ความสนใจศึกษาภาษาอาหรับเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบกับภาษาอื่นอีกหลายๆภาษาพี่ก็ยังมองว่าคู่แข่งขันยังมีน้อยอยู่
5. พี่มีเทคนิคหรือวิธีการเรียนภาษาอหรับอย่างไรบ้างครับ?
พี่คิดว่าทุกคนมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันและการเรียนจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของแต่ละคน สำหรับตัวพี่เองพี่ถามตัวเองก่อนเลยว่าสิ่งที่พี่ทำพี่ชอบไหม ถ้าคำตอบคือใช่ก็จะลงมือทำ การเรียนภาษาที่ดีต้องหมั่นท่องคำศัพท์ ทบทวนสิ่งที่เรียนมาทุกครั้ง และควรจะอ่านหนังสือก่อนไปเรียนทุกครั้งเช่นกัน หมั่นทำแบบฝึกหัดให้เยอะๆ การเรียนรู้อีกอย่างที่สำคัญคือการเรียนรู้จากหนังสือพิมพ์และฟังข่าวที่เป็นภาษาอาหรับ การลองอ่านหรือลองฟังในที่นี้ก็เพื่อช่วยฟื้นฟูคำศัพท์ที่เรียนมา หากว่าอ่านก็ต้องสังเกตด้วยว่าศัพท์คำไหนที่เราเคยเรียนมาหรือถ้าฟังข่าวก็ให้พยายามจับคำที่เรารู้สึกคุ้นๆหู
6. พี่อยากจะฝากอะไรให้กับผู้ที่เริ่มหันมาสนใจหรือเลือกเรียนภาษาอาหรับเป็นภาษาที่สองหรือภาษาที่สามบ้างไหมครับ?
สุดท้ายที่พี่อยากจะฝากเอาไว้สำหรับใครก็ตามที่สนใจเรียนภาษาอาหรับ อย่างที่พี่กล่าวไว้ข้างต้นว่าภาษาอาหรับเป็นภาษาที่สวยงาม ทุกภาษามีความยากง่ายอยู่ในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นเมื่อคุณมีใจรักในการเรียนภาษาอาหรับ คุณก็จะมองข้ามความยากของมันหรืออุปสรรคในการเรียนไป แล้วคุณก็จะรู้สึกสนุกกับการเรียนและนอกเหนือจากนี้ความชอบจะทำให้คุณทำมันได้ดี  
พี่ขอแชร์ประสบการณ์การทำงานทิ้งท้ายให้ก่อนไปแล้วกันนะค่ะ หลังจากเรียนจบพี่ได้รับโอกาสให้ไปทำงานที่ดูไบ ตอนนั้นดีใจมากค่ะเพราะว่าฉันจะได้ไปขี่อูฐแล้ว(555) คือตอนนั้นพี่ก็ยังไม่คิดที่จะเรียนภาษาอาหรับอย่างจริงจัง อย่างหนึ่งที่เราควรตระหนักไว้เลยก็คือการใช้ชีวิตในประเทศที่มีความแตกต่างทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิงไม่ใช่เรื่องง่ายนะค่ะ จะต้องอาศัยการปรับตัวสูงมาก จริงอยู่ว่าคนที่ดูไบสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เขาคงอยากจะต้อนรับและรู้สึกเป็นมิตรกับเรามากขึ้นหากเราสามารถใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสารกับคนในท้องถิ่นได้

About Author :

สายพิรุณ กุลวงศ์ |  แขกรับเชิญพิเศษ
ปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
Follow her @ | Facebook
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า