รู้จักกับ "วันอีด" เทศกาลรื่นเริงของชาวอาหรับมุสลิม

หากถามถึงวันสำคัญของชาวอาหรับและมุสลิมทั่วโลก ผมเชื่อเหลือเกินว่าทุกคนต่างนึกและตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า  “วันอีด” ใช่ครับ!  ผมกำลังจะพูดถึง 2 วันอีด นั่นก็คือ “วันอีดิ้ลฟิตรี” และ “อีดิ้ลอัฎฮา” สองวันดังกล่าวแตกต่างกันอย่างไร? บทความนี้จะทำให้ทุกท่านได้รู้กันครับ


วันอีดิ้ลฟิตรี หรือ อีดเล็ก (ในพื้นที่ภาคใต้จะเรียกวันนี้ว่า “วันรายอ” เป็นการเรียกตามภาษามลายู) เป็นวันเฉลิมฉลองหลังเสร็จสิ้นจากการถือศีลอดครบหนึ่งเดือนตามปฏิทินจันทรคติทางศานาอิสลาม  ส่วนอีดิ้ลอัฎฮา หรือ อีดใหญ่ เป็นวันที่ชาวมุสลิมทั่วโลกนัดรวมตัวกัน ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อประกอบศาสนกิจสำคัญข้อหนึ่งทางศาสนาพร้อมกับการย้อนรำลึกถึงพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาอิสลาม ในวันดังกล่าวมีการเชือดสัตว์พลีแจกจ่ายเนื้อแก่คนยากจน การบริจาคทานซะกาต การแสดงความรัก การมอบของขวัญแก่กัน ฯลฯ


คำว่า “อีด” หมายถึงอะไร?


ก่อนที่ผมจะพาทุกท่านไปทราบถึงที่มาและความสำคัญของวันอีดฯ  ผมอยากให้ทุกท่านได้ทราบถึงความหมายทางด้านภาษาของคำว่า “อีด” กันก่อนครับ


คำว่า “อีด” ทางภาษาศาสตร์  มาจากรากศัพท์คำกริยาอาหรับที่ผันมาจาก คำว่า   عَادَ  يَعُودُ -  عَودٌ، عَودَة  อ่านว่า  “อาดะ  ยะอูดู  เอาดุนหรือเอาดะฮฺ”  มีความหมายว่า “เวียนมาบรรจบหวนมาบรรจบครบรอบ” คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับคำว่ากริยา อาดา (عاد)  คือ   عَيَّدَ  يُعَيِّدُ  تَعْيِيْدٌ แปลว่า  شهد العيد واحتفل به   ก. เข้าร่วมเทศกาลอีด ตัวอย่างประโยค เช่น   أعيد عيد الأضحى في أبوظبي  แปลว่า “ฉันร่วมเฉลิมฉลองวันอีดในกรุงอาบูดาบีย์” (เมืองหลวงประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ในประโยคดังกล่าวเราจะไม่ใช้คำกริยา ชารอกะ (شارك)  ซึ่งมีความหมายว่า “เข้าร่วม” เหมือนกัน แต่จะมีคำศัพท์เฉพาะเท่านั้นครับ


ส่วนความหมายในทางศาสนาก็มักจะถูกกล่าวถึงอยู่เสมอในตำราทางศาสนบัญญัติอิสลาม เพราะวันสำคัญดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับศาสนาอิสลามโดยตรง “อีด” เป็นวันหรือโอกาสสำคัญที่หวนกลับมาบรรจบหรือครบรอบอีกครั้งเป็นเนืองนิตย์หรือเป็นปกติวิสัย ไม่ว่าจะเป็นการหวนกลับมาในรอบสัปดาห์  รอบเดือน หรือรอบปีก็ตาม  อาทิเช่น  อีดิลฟิฏรี  อีดิลอัฎฮา อีดอุสบูอฺ (วันศุกร์ประจำสัปดาห์) อีดุลมีลาด (วันเกิด) อีดเราะสุสสะนะฮฺ (วันขึ้นปีใหม่) และอีดเมาลิด  เป็นต้น

 

เค้าทำอะไรกันในวันอีดฯ ?


            "วันอีด"  ถือว่าเป็นเทศกาลวันรื่นเริงของชาวอาหรับและชาวมุสลิมทั่วโลก  เมื่อถึงเทศกาลดังกล่าวชาวอาหรับมุสลิมก็จะจัดงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ โดยรูปแบบการจัดงานอาจจะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามพื้นที่ แต่หากกล่าวถึงเรื่องพิธีกรรมในวันนั้นถือว่าไม่มีความแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย  โดยในเช้าของวันอีดจะมีพิธีนำสวดละหมาดร่วมกันในสถานที่กว้างหรือในมัสยิด  หลังจาพิธีละหมาดจะมีการรับฟังปาฐกถา (คุฏบะฮฺ) โดยผู้นำศาสนาหรือตัวแทนปาฐกถา สำหรับในวันอีดิ้ลอัฏฮาจะมีการเชือดสัตว์พลี (กุรบาน) เพื่อแจกจ่ายเนื้อแก่คนยากจน นอกจากนั้นยังมีการแจกเงินแก่เด็กๆ เป็นเงินขวัญอีด หรือที่เรียกติดปากอาหรับว่า “เงินอีดียะห์” นั่นเองครับ


 “วันอีด” ยังถือว่าเป็นวันแห่งการแสดงความจงรักภัคดีต่อพระผู้เป็นเจ้าและเป็นวันแห่งการประกาศชัยชนะของผู้ถือศีลอดในวันอีดฟิตรี ส่วนในวันอีดอัฎฮาเป็นวันแห่งการประกาศชัยชนะของผู้เดินทางไปแสวงบุญ ณ  นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย  นอกจานั้นแล้ววันอีดยังเป็นวันแห่งการแสดงความรักระหว่างพี่น้องร่วมศรัทธา  ผ่านการแบ่งปันทรัพย์สิน สิ่งของ  รอยยิ้มและมิตรภาพดีๆ แก่กัน  เรามักจะเห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะผ่านกิจกรรมส่งเสริมความรักมากมายในวันนั้น   เช่น การบริจาคทาน  กิจกรรมเวที  การเยี่ยมญาติพี่น้อง  การพบปะเพื่อนฝูงในงานเลี้ยง  เป็นต้น


กิจกรรมที่จำเป็นและส่งเสริมให้กระทำในวันอีดฯ ได้แก่

1. การอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด  การพรมน้ำหอม  และการแต่งกายในชุดที่สวยและดูดีที่สุด

2. การรับประทานอาหารเล็กน้อยก่อนไปร่วมละหมาดในวันอีดิ้ลฟิตรี  ส่งเสริมให้ทานผลอินทผลัมจำนวนหนึ่ง  โดยให้ทานเป็นจำนวนคี่  ส่วนในวันอีดิ้ลอัฎฮา ส่งเสริมให้รับประทานอาหารปรุงสุกจากเนื้อเชือด (เนื้อกุรบาน) หลังการเสร็จสิ้นการละหมาดอีดฯ อาหารมื้อดังกล่าวถือว่าเป็นมื้ออาหารมงคล

3. การกล่าวถ้อยคำสรรเสริญต่อพระผู้เป็นเจ้า


الله أكبر ، الله أكبر ، لا إله إلا الله والله أكبر الله أكبر ولله الحمد.

อ่านว่า “อัลลอฮุอักบัรฺอัลลอฮุอักบัรฺลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺวัลลอฮุ อักบัรฺอัลลอฮุอักบัรฺวะลิลลาฮิลหัมดฺ”

แปลว่า “อัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งใหญ่,  อัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ อัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งใหญ่,  อัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ และสำหรับพระองค์ คือ การแซ่ซ้องสดุดี”


4. กล่าวถ้อยคำอวยพรต่อกันในวันอีดฯ  เช่น 

تقبل الله منا ومنكم

อ่านว่า “ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะ มินกุม”

แปลว่า  “ขอให้อัลลอฮฺทรางตอบรับ (การงาน) ทั้งของเราและของท่าน”

كل عام وأنتم بخير

อ่านว่า  “กุลลุ อามิน วะ อันตุม บิเคร”

แปลว่า “ขอให้ท่านมีความสุขตลอดไป”

عساكم من عواده

อ่านว่า “อะซากุม มิน เอาวาดิฮี”


การให้ความหมายสำหรับถ้อยคำนิยมของชาวอาหรับวลีนี้  มักแฝงไปด้วยความหมายดีๆ ดังต่อไปนี้

  • การเวียนมาบรรจบของวันแห่งความสุข ซึ่งในวันนั้นมีการแสดงความยินดีต่อกัน   
  • ประโยคขอพรต่อพระเจ้าให้บุคคลผู้นั้นประสบพบเจอกับวันอีดอีกครั้งในปีถัดไป “หวังว่าอัลลอฮฺจะทรงให้ท่านมาร่วมวันอีดอีกครั้งในปีถัดไป”
  • ขอให้พระเจ้าทรงใว้ชีวิตบุคคลผู้นั้นให้อยู่ร่วมกับเราในวันอีดในปีถัดไป

อาจได้ว่าสรุปประโยคดังกล่าวเป็นการขอพรให้บุคคลผู้นั้นมีอายุยั่งยืนเพื่อให้อยู่กับเราในอีดปีหน้านั่นเองครับ 

عيد سعيد ، عيد مبارك

อ่านว่า  “อีดุน ซะอีด อีดุน มุบาร็อก”

แปลว่า  “สุขสันต์วันอีด อีดแห่งความสิริมงคล”


5. การพบปะเพื่อน พี่น้อง และการเยี่ยมเยือนญาติมิตร

6. การจัดเลี้ยงในวันอีด  อาจจะจัดในรูปแบบครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเชิญบุคคลอื่นเข้าร่วมสังสรรค์ 









ภาพจาก: http://www.barakabits.com


ใหม่กว่า เก่ากว่า