ความแตกต่างระหว่างคำว่า “ฟุฏูร” และ “อิฟฎอร”

คำว่า ฟุฏูร”  เป็นคำในภาษาอาหรับที่มาจากรากศัพท์เดิมของ  ฟะฏอรอ  ยุฟฏุรุ  ฟุฏูรุน  (فطر – يفطر – فطور)  ซึ่งเป็นกริยาแท้ (الفعل الثلاثي المجرد) ส่วนคำว่า อิฟฏอร”  มีรากศัพท์เดิมมาจากคำว่า อัฟฏอรอ  ยุฟฏีรู  อิฟฏอรุน   ((افطر – يفطِر – إفطار  เป็นกริยาเพิ่ม (الفعل الثلاثي المزيد) ส่วนการให้ความหมายของสองคำนี้มีส่วนที่คล้ายคลึงกันและอาจจะเหมือนกันโดยสิ้นเชิง แต่ในพจนานุกรมบางเล่มก็ยังให้ความหมายที่แตกต่างออกไป ส่วนลักษณะการนำไปใช้นั้นอาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน

1. ฟะฏอรอ  ยุฟฏุรุ  ฟุฏูรุน  (فَطَرَ – يفطُرُ – فطورٌ)
พจนานุกรม อัลมุอฺญัม อัลวะสีฏ  ให้ความหมายไว้ว่า
1.1     อาหารมื้อเช้า  ซึ่งเป็นมื้อแรกของวัน 
1.2    อาหารที่ผู้ถือศีลอดทานหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
พจนานุกรมอัลลุเฆาะฮฺ อัลอะรอบียะฮฺ อัลมะอาศิร  ให้ความหมายไว้ว่า
1.1     อาหารมื้อเช้า
1.2    อาหารของผู้ถือศีลอด หลังการอะซานมัฆริบ (การเรียกร้องสู่การละหมาดในช่วงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า) หรือการรับประทานอาหารหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
พจนานุกรมรออิด ให้ความหมายว่า สิ่งที่ใช้ในการรับประทานในมื้อเช้า ได้แก่อาหารหรืออย่างอื่น"

2. อัฟฏอรอ  ยุฟฏีรู  อิฟฏอรุน   ((اَفْطَرَ – يُفْطِرُ – إفطَار
พจนานุกรมอัลลุเฆาะฮฺ อัลอะรอบียะฮฺ  อัลมะอาศิร  ให้ความหมายไว้ว่า
2.1    อาหารเช้า  สำหรับรับประทานเป็นอาหารมื้อแรกก่อนออกไปทำงาน
2.2    อาหารละศีลอด ในช่วงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

พจนานุกรมมุศฏอละหะฮฺ ฟิกฮียะฮฺ (พจนานุกรมด้านศาสนบัญญัติอิสลาม) ได้ให้ความหมายที่กว้างกว่าพจนานุกรมเล่มอื่นๆ ได้แก่

2.1 ผู้ที่ถือศีลอด (صائم) ซึ่งเขาจะต้องละทิ้งในสิ่งที่ศาสนาบัญญัติห้ามในช่วงถือศีลอด เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การกิน การดื่ม การนินทา ฯลฯ

2.2 สตรีที่มีเลือดประจำเดือนหรือมีเลือดหลังคลอดบุตร (الحائض والنفساء) โดยไม่ต้องถือศีลอด และอนุญาตให้นางรับประทานอาหารได้

2.3 สตรีที่วางบุตรของนางเพื่อรับรับประทานอาหารในเดือนรอมฎอนหลังจากการให้นม (المرضع) ในกรณีนี้นางไม่สามารถถือศีลอดได้ตามบทบัญญัติศาสนา

2.4 ผู้สูงอายุ หรือชราภาพ (الكبير في رمضان) ที่ศาสนาอนุญาตให้รับประทานอาหารได้ โดยไม่ต้องถือศีลอดแต่อย่างใด

2.5 ผู้ป่วยที่สามารถศาสนาอนุญาตให้รับประทานอาหารได้ในช่วงเดือนรอมฎอน (المريض في رمضان)

สำหรับในพจนานุกรมอัลอะฟันดี้ ได้ให้ความหมายเป็นภาษาไทย สำหรับคำทั้งสองไว้ว่า
- ฟะฏอรอ  ยุฟฏุรุ  ฟุฏูรุน  (فطر – يفطر – فطور)   หมายถึง  ละศีลอด
- อัฟฏอรอ  ยุฟฏีรู  อิฟฏอรุน   ((افطر – يفطِر – إفطار  หมายถึง  รับประทานอาหารเช้า, ทำให้เขาละศีลอด, ให้อาการแก่เขา, เลี้ยงอาหารแก่ผู้ละศีลอด 

หากมองการใช้ความหมายในเชิงนิรุกศาสตร์แล้ว กริยาย่อมมีความหมายที่เปลี่ยนไปหากมีการเพิ่มอักษรเข้าไปในคำที่เป็นกริยาแท้เดิม ในกรณีนี้มีการเพิ่มอักษร อะลิฟ เข้าไปในคำเดิมของ ฟะฏอรอเป็น อัฟฏอรอซึ่งจะต้องให้ความหมายเป็น ทำให้.....”  กรณีคำดังกล่าวจึงต้องให้ความหมายว่า ทำให้เขาละศีลอด หรือให้อาหารแก่เขา



การให้ความหมายคำศัพท์สองคำนี้คล้ายคลึงกันมาก  และอาจจะเหมือนกันมากในพจนานุกรมบางเล่ม ซึ่งให้ความหมายเจาะจงไปที่ตัวอาหาร คือ ใช้เรียกมื้ออาหารในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน  แต่สำหรับการให้ความหมายของพจนานุกรมด้านศาสนบัญญัติแล้ว คำว่า  อิฟฏอรมีความหมายที่หลากหลายและกว้างกว่า แต่หากพิจารณาการใช้คำศัพท์ส่วนใหญ่แล้วมักใช้คำว่า ฟุฎูรใช้เรียกอาหารมื้อเช้า หรือมอาหารเช้า  ส่วน อิฟฎอรใช้เรียกอาหารละศีลอด (การรับประทานอาหารหลังจากกดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า) หรือการเลี้ยงอาหารแก่ผู้ถือศีลอดนั่นเอง 
ใหม่กว่า เก่ากว่า