อบู บะชัร อัมรฺ บิน อุซมาน บิน กุนบัร อัลบัศรีย์ หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม สิบาไวฮฺ (ฮ.ศ.140/ ค.ศ.760-ฮ.ศ.180/ ค.ศ.797) ปรมาจารย์อวุโสทางด้านไวยากรณ์อาหรับ ถือว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณูปการอย่างมากต่อศิลปวัฒนธรรมอาหรับอิสลาม เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการวางรากฐานด้านไวยากรณ์ภาษาอาหรับชั้นสูง ผลงานการประพันธ์ที่เป็นที่รู้จักคือ “อัลกิตาบ” จัดว่าเป็นตำราทางไวยากรณ์ร่วมสมัยที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน
อัลกิตาบ
ถือว่าตำราที่มีอิทธิพลอย่างมากในการศึกษาด้านไวยากรณ์อาหรับ
นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างยกย่องท่านว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในแขนงวิชาดังกล่าว
จนถูกขนานนามว่า “กุรอานุลนะหฺวี” (ผู้ที่มีความปราดเปรื่องอย่างมากในเรื่องไวยากรณ์)
นอกจากนั้นแล้วท่านยังเป็นผู้ที่อธิบายเรื่องสัทอักษรอาหรับไว้อย่างละเอียด
อัมรฺ บิน อุซมาน บิน กุนบัร เกิดในช่วงกลางศตวรรษที่สองแห่งฮิจเราะห์ศักราช
ในเขตอัลบัยฎออ์ ตำบลชีราซ เมืองฟาร์ส
(ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) ชื่อที่เป็นที่รู้จักกัน คือ สิบาไวฮฺ
(ชื่อของท่านเป็นคำในภาษาเปอร์เซีย หมายถึง กลิ่นหอมของแอปเปิ้ล)
ท่านได้ใช้ชีวิตในช่วงวัยเด็กที่บัศเราะฮฺ (เมืองหนึ่งในประเทศอิรักปัจจุบัน)
ด้วยบุคลิกที่เป็นเด็กใฝ่รู้ ใฝ่เรียน
ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดความรู้จากปราชญ์ทางด้านไวยากรณ์ในสมัยนั้นหลายท่านด้วยกัน
เช่น อัลอัคฟัช อัลอักบัร, ยุนัส บิน หะบีบ,
อบี เซด อัลอันศอรีย์ นอกจากนั้นท่านยังเป็นศิษย์ของปรมาจารย์ที่มีชื่อเสียงอย่างมากทางภาษาศาสตร์
คือ อัลคอลีล บิน อะหมัด อัลฟะรอฮิดีย์ (ฮ.ศ.100/ ค.ศ.718-ฮ.ศ.173/ ค.ศ.789)
ท่านเคยเดินทางไปยังแบกแดดและได้พบกับอัลกุสาอีย์
(ฮ.ศ.119/ ค.ศ.737-ฮ.ศ.189/ ค.ศ.805) ปราชญ์ทางไวยากรณ์สำนักกุฟะห์
ในช่วงนั้นได้มีการตอบโต้กันในประเด็นที่เป็นที่รู้จักหลายเรื่องเกี่ยวกับไวยากรณ์ หลังจากนั้นท่านก็ได้กลับไปยังบ้านเกิดและได้เสียชีวิตที่นั่นในปี
ฮ.ศ.180/ ค.ศ.797
แปลจาก http://www.un.org/ar/events/languageday