เอ ศุภสิทธิ์ บัณฑิตหนุ่ม ป. โทผู้สนใจในภาษาอาหรับ


- สวัสดีครับ  พี่เอ  เบื้องต้นผมอยากที่จะให้พี่เอได้แนะนำตัวและกล่าวทักทายกับผู้อ่านคอลัมน์มุกอบะละห์ บนบล็อกสนทนาประสาอาหรับของเราสักนิดนึงนะครับ  เชิญครับ...
สวัสดีครับ พี่ชื่อว่า ศุภสิทธิ์ นากสวาสดิ์ หรือจะเรียกชื่อเล่นว่า พี่เอ ก็ได้ครับ พี่จบปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาเยอรมัน โทภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงครับ และได้มาศึกษาต่อปริญญาโทที่ Gent Universiteit ที่ประเทศเบลเยี่ยมจนสำเร็จการศึกษาทางด้าน ภาษาและวัฒนธรรมยุโรปตะวันออก ก็ต้องโดนบังคับเรียนภาษารัสเซียเป็นวิชาเอก ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาษาอาหรับเลยใช่ไหมครับ?  
เริ่มต้นกับคำถามแรกกันเลยนะครับ...

-ทราบมาว่าพี่เป็นหนึ่งในบุคคลที่สนใจในภาษาอาหรับและยังเป็นแฟนเพจของเราด้วยอยากทราบว่าทำไมพี่จึงมีความสนใจเรียนภาษาอาหรับเป็นภาษาที่สามครับ  มีแรงบันดาลใจหรือจุดเริ่มต้นมากจากอะไรครับ?
โดยส่วนตัวแล้วพี่มีความชอบและความสนใจในการเรียนภาษาต่างประเทศมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว และพอขึ้นมัธยมก็เรียนภาษาฝรั่งเศส และพอเข้ามหาวิทยาลัยก็หันมาเรียนภาษาเยอรมัน พูดได้ว่าตั้งแต่เล็กจนโตก็เรียนภาษาต่างประเทศมาตลอด
เวลาพี่กลับไปเที่ยวที่เมืองไทย ก็จะใช้บริการสายการบินเอธิฮัท และก็จะแวะเที่ยวที่อาบู ดาบี ประมาณ 2-3วัน ช่วงเวลาอยู่ที่อาบู ดาบี ก็มีความอยากรู้ว่าผู้คนที่เราเห็น เราเจอตามที่ต่างๆเขาคุย เขาพูดอะไรกัน และภาษาที่เขียนอ่านว่าอะไร และพอรู้จักกับเพื่อนชาวคูเวตที่มาเที่ยวเมืองไทย ก็ยิ่งทำให้มีความอยากรู้ในภาษาอาหรับมีมากยิ่งขึ้น สำหรับคนที่ชอบเรียนทางด้านภาษาแล้วจะรู้ว่า เวลาที่ได้ยินคนคุยกันในภาษาที่เราไม่รู้จัก มันทำให้รู้สึกอึดอัดว่าทำไมเราฟังเขาไม่รู้เรื่อง  หลังจากนั้นกลับมาเบลเยี่ยมพี่ก็มาสมัครเรียนภาษาอาหรับที่สถาบันสอนภาษาของ Gent Universiteit สถาบันที่พี่เรียนจบมา
- สำหรับพี่แล้ว .. พี่คิดว่าภาษาอาหรับมีความสำคัญอย่างไรบ้างครับครับ?
สำหรับพี่แล้ว พี่คิดว่าภาษาอาหรับในยุคปัจจุบันมีความสำคัญมากน่ะ เพราะว่าทุกวันนี้มีชาวอาหรับจำนวนมากที่เดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก หนึ่งในหลายประเทศนั้นก็คือประเทศไทย  ถ้าเราสามารถสื่อสารภาษาอาหรับกับเขาเหล่านั้นได้ ก็เหมือนเราสามารถทำความประทับใจให้กับพวกเขาได้ในระดับนึง มีชัยไปกว่าครึ่ง 
อีกประการนึงก็คือ ภาษาคือวัฒนธรรม ชีวิต ความเป็นอยู่  และประวัติศาสตร์ของชนชาตินั้นๆ  การเรียนภาษาอาหรับ นอกจากเราจะสามารถสื่อสารกับคนอาหรับในแต่ละประเทศที่พูดภาษาอาหรับแล้ว ยังทำให้เราสามารถเข้าใจวัฒนธรรม ความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ สภาพสังคมและชีวิตความป็นอยู่ของพวกเขาได้มาก และมันจะมีประโยชน์มากสำหรับนักธุรกิจที่จะทำการติดต่อค้าขายหรือเจรจาทางธุรกิจ  เพราะตลาดในโลกอาหรับแถบ Gulf Cooperation Council (GCC)  มีกำลังซื้อมากกว่า ตลาดในอเมริกา หรือในยุโรปรวมกันอีกสมัยก่อนถ้าอยากจะก้าวหน้าในการทำงาน ต้องเรียน ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษารัสเซีย แต่ทุกวันนี้ต้องเพิ่ม ภาษาอาหรับเข้าไปด้วยอีกภาษานึง คนที่เรียนภาษาอาหรับคือคนที่มีความคิดก้าวหน้า เพราะเราคิดไกลกว่าคนอื่นไปขั้นนึง
- ทราบมาว่าตอนนี้พี่กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศเบลเยี่ยม อยากจะสอบถามในภาพกว้างๆ นะครับว่า “ชาวยุโรปมีความสนใจต่อภาษาอาหรับมากแค่ไหน?”  -ในมุมมองของพี่นะครับ
ในความเห็นของพี่ภาษาอาหรับในยุโรปยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบๆแค่ในครอบครัว ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น  ชาวยุโรปส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจภาษาอาหรับมากสักเท่าไหร่
 พอพูดถึงภาษาอาหรับผู้คนที่นี่จะนึกถึงอันดับแรกเลยคือ อาหรับคือมุสลิม พอพูดถึงมุสลิมเมื่อไหร่ผู้คนที่นี่จะถอยห่างอออกทันที จะปิดประตูบ้านหนีกันหมด สาเหตุหลักก็มาจาก ผู้คนที่อพยพมาจาก โมรอคโค ตุรกี ปากีสถาน ซีเรีย อิรัก ฯลฯ มักจะเข้ามาสร้างปัญหา ความเดือดร้อน วุ่นวาย รำคาญใจ ให้กับคนท้องถิ่นกันมาก บางคนก็ลักเล็ก ขโมยน้อย ไปจนถึงอาชญกรรมใหญ่ๆ ด้วยสาเหตุเหล่านี้จึงทำให้ผู้คนในยุโรปมีความคิดติดลบเกี่ยวกับภาษาตะวันออกกลาง และชาวมุสลิม เข้าทำนองว่า “ ปลาเน่าตัวเดียว เหม็นไปทั้งข้อง”
- หลายคนอาจจะพูดว่า “ภาษาอาหรับ เป็นภาษาที่ค่อนข้างไม่น่าสนใจ เรียนยาก เรียนไปก็ไม่รู้จะไปใช้อย่างไร?” พี่คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่านี้บ้างครับ…
อันนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ว่าจะนำภาษาอาหรับที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในอาชีพของแต่ละคนอย่างไร คนรอบข้างพี่ทุกคนไม่มีใคนสนใจเรียนกันเลย บางคนก็ถามว่าเรียนไปทำไมบางคนหัวเราะเยาะ เห็นเป็นเรื่องไร้สาระ 
สำหรับคำว่ายาก การเรียนทุกอย่าง ทุกวิชา มันมีความยาก ง่ายในตัวของมันเอง ขนาดภาษาไทยที่เป็นภาษาแม่ ที่เราทุกคนพูดกันมาตั้งแต่อ้อน แต่ออก ยังมีความยากเลย คนที่บอกว่าเรียนภาษาอาหรับยาก เขาอาจจะไม่คุ้นเคยกับการเรียนภาษาที่สามมาก่อน แต่สำหรับพี่ ที่เริ่มเรียนแรกๆก็ยากเหมือนกัน เพราะเราต้องเริ่มหัดเขียนพยัญชนะใหม่หมด เหมือนกลับไปเป็นเด็กอนุบาล การเขียนพยัญชนะภาษาอาหรับเปรียบเสมือนเราถักไหนพรม ที่ต้องค่อยๆถัก ค่อยๆร้อยที่ละเส้น จนออกมาเป็นคำ เป็นประโยค พี่ว่าภาษาอาหรับมีเสน่ห์มากภาษานึงที่จะเรียน 
- พี่มีเทคนิคหรือวิธีการเรียนภาษาอาหรับอย่างไรบ้างครับ?  และอยากจะฝากอะไรให้กับผู้ที่เริ่มหันมาสนใจหรือเลือกเรียนภาษาอาหรับเป็นภาษาที่สองหรือภาษาที่สามบ้างไหมครับ?
สำหรับพี่ไม่มีเทคนิคอะไรมาก แค่ใส่ใจ ขยันทบทวน ท่องศัพท์ อย่าไปเครียด เราสามารถเรียนภาษาอาหรับได้จากสิ่งต่างๆรอบตัวเรา  อาทิเช่น เห็นอะไรใกล้ตัวก็ให้นึกคำศัพท์เป็นภาษาอาหรับ หัดแต่งประโยคง่ายๆ  สมมติเหตุการณ์ง่ายๆแล้วแต่งเป็นบทสนทนาขึ้นมา 
 ฟังเพลงภาษาอาหรับบ่อยๆ อ่านข่าวเยอะๆ ฟังข่าวภาคภาษาอาหรับมากๆ ไม่ต้องไปกังวลว่าจะแปลไม่ออก แรกๆพยายามจับใจความคร่าวๆให้ได้ก็พอเพียงแล้ว และหมั่นฝึกพูดกับเจ้าของภาษาเท่าที่โอกาสอำนวย หรือคุยกับอาจารย์ผู้สอนก็ได้ 
ทุกๆวันพี่จะหาเวลาว่างเข้าไปดูเทปการบรรยายย้อนหลังวิชาภาษาอาหรับทางสื่อการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งจะช่วยเราทบทวนไปในตัว
สำหรับน้องๆหรือคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจจะเรียนภาษาอาหรับ สิ่งแรกที่พี่อยากจะฝากไว้ก็คือ  อย่าไปคิดว่ามันยาก ถ้าเราคิดว่ายากตั้งแต่แรก มันจะทำให้เราท้อ และไม่มีแรงจูงใจในการเรียน และมันจะทำให้เราท้อในที่สุด  “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”  สู้ๆ ครับ 
إذا أحببت أن تتعلم شيئاً فحذار أن تقول: إنه صعبٌ ومُعَقَّد 
เมื่อคุณรักที่จะเรียนรู้สิ่งใดเเล้ว ดังนั้นจงระมัดระวังที่จะพูดว่า "มันยาก!"

สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณพี่เอเป็นอย่างมากที่เป็นเกียรติมาเป็นบุคคลรักษาภาษาอาหรับในคอลัมน์มุกอบะละฮฺของเรา – ขอบคุณครับ

About Author :

เอ ศุภสิทธิ์ นากสวาสดิ์|  แขกรับเชิญพิเศษ
ปริญญามหาบัณฑิต สาขาภาษาและวัฒนธรรมยุโรปตะวันออก
มหาวิทยาลัย Gent Universiteit, ประเทศเบลเยี่ยม
Follow him @ | Facebook

1 ความคิดเห็น


  1. g-) สุดยอดไปเลยครับ บทสัมภาษณ์ของพี่เค้า ได้ใจผมจริงๆ

    ตอบลบ
แสดงความคิดเห็น
ใหม่กว่า เก่ากว่า