ภาษาอาหรับไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากเราตั้งใจจริง



        อัสลามุอะลัยกุม - สวัสดีเพื่อน ๆ ทุกคนนะคะ ก่อนอื่นต้องก็ต้องขอเกริ่นออกตัวก่อนเลยว่าดิฉันเองไม่ได้เก่งภาษาอาหรับ ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาตั้งแต่กำเนิด (มูวัลละดะห์) และไม่เคยได้เดินทางไปสัมผัสโลกอาหรับมาก่อนเลยในชีวิต วันนี้อยากจะมาบอกเล่าประสบการณ์ดี ๆ เผื่อจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คนที่กำลังลังเลหรือตัดสินใจเลือกเรียนภาษาอาหรับเป็นภาษาที่สองกันค่ะ

        ดิฉันชื่อพรรณิดา บุญสัน ชื่อเล่น “ดา” จบการศึกษาสาขาภาษาอาหรับและภาษาอาหรับธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ เอกอาหรับ มอ. ปัต’ ค่ะ

        ตอนที่ดิฉันเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นรู้สึกเฉยๆ กับการเรียนภาษาอาหรับมากเลยค่ะ ตอนนั้นคิดแค่ว่าเรียนเพื่ออ่านคัมภัร์อัลกุรอานได้ ก็คงเพียงพอแล้ว ในตอนนั้นดิฉันคิดได้แค่นั้นจริง ๆ แต่เมื่อขึ้น ม.ปลายมีครูใหม่ (อุสตาซ) ท่านหนึ่งเข้ามาสอนในโรงเรียน และต่อมาท่านก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ดิฉันอยากเรียนภาษาอาหรับ เรื่องราวมีอยู่ว่า ...

        วันหนึ่งดิฉันเดินเข้าไปห้องฝ่ายปกครอง มีอุสตาซอยู่หลายท่านกำลังคุยภาษาอาหรับกันอย่างสนุกสนาน ตอนนั้นจำได้ว่าดิฉันไม่เข้าใจในสิ่งที่อุตาซเหล่านั้นสื่อสารกัน แอบมีความใคร่รู้ อยากเข้าใจในสิ่งที่ท่านทั้งหลายพูดคุยกัน ความรู้สึกตอนนั้นไม่ต่างอะไรกับคนใบ้เลยค่ะ หลังจากวันนั้นดิฉันจึงตั้งใจและบอกกับตัวเองว่าจะต้องเรียนภาษาอาหรับแบบจริงจังให้เข้าใจและสามารถสื่อสารกับคนอาหรับให้ได้ นี่คือสิ่งที่สร้างแรงบันดานใจในการเริ่มต้นเรียนรู้ภาษาอาหรับของดิฉันเลยค่ะ

        หลังจากเหตุการณ์นั้น ดิฉันเริ่มค้นหากิจกรรมค่ายติวภาษาอาหรับ และพยามเข้าร่วมค่ายภาษาอาหรับเรื่อยมา จนพบว่าตัวเองเริ่มชอบมันจริง ๆ พอจบ ม.ปลายจึงตัดสินใจเลือกเข้าเรียน มอ. สาขาภาษาอาหรับธุรกิจ ซึ่งเป็นมหาลัยในไทยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี ประกอบกับความไม่พร้อมที่จะเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศด้วยปัญหาด้านสุขภาพ

        ดิฉันเริ่มเรียนภาษาอาหรับในมหาวิทยาลัยทั้ง ๆ ที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับไวยากรณ์อาหรับเลย เพราะช่วงอยู่มัธยมวิชาไวยากรณ์อาหรับหรือนาฮูและศอร็อฟไม่มีสอนในหลักสูตรมาตั้งแต่ ม. ต้น จนถึง ม.ปลาย มีเพียงแค่การสอนภาษาอาหรับทั่วไปเท่านั้น อย่างการท่องศัพท์ ประโยค บทสนทนาสั้นๆ อาจจะมีการสอนเอี๊ยะรอบสอดแทรกบ้างเล็กน้อย แต่ดิฉันก็ไม่เข้าใจอยู่ดี พูดได้เลยว่าไม่มีความรู้เรื่องไวยากรณ์อะไรสักอย่างเลย แม้กระทั่งคำสรรพนาม (ฎอมีร) ต่างๆ ในภาษาอาหรับ ก็ยังไม่รู้จักเลยค่ะ คำว่า “ตัซฮาบุ” กับ“ยัซฮาบุ” ต่างกันอย่างไรก็ยังตอบไม่ได้ในตอนนั้น ซึ่งหากพูดถึงระดับพื้นฐานความรู้ไวยากรณ์อาหรับก่อนเข้าเรียนในมหาลัยถือว่าเป็นศูนย์เลยก็ว่าได้ค่ะ มันเป็นเรื่องยากที่ท้าทายมากๆ สำหรับดิฉัน ในขณะที่เพื่อนร่วมห้องส่วนใหญ่เขาจบมัธยมจากมาเลเซียบ้าง โรงเรียนชื่อดังในสามจังหวัดบ้าง รวมถึงเพื่อนๆ ที่เกิดและใช้ชีวิตในประเทศอาหรับมาก่อนบ้างมันยิ่งสร้างความกดดันให้ดิฉันเป็นอย่างมาก หลายๆ คำถามผุดขึ้นมาในสมอง 

    ฉันจะเรียนได้มั้ย?
    ฉันจะไหวรึเปล่า?
    ฉันจะโดนรีไทร์ก่อนเรียนจบมั้ย? – คำถามเหล่านี้คอยตามหลอกหลอนอยู่ในหัวฉันตลอดในตอนนั้น

        ย้อนไปเมื่อ 6 เดือนก่อนมหาวิทยาลัยเปิด ด้วยเหตุที่รู้ว่าตัวเองว่าไม่มีพื้นฐานอะไรเลยเกี่ยวกับไวยากรณ์อาหรับ จึงตัดสินใจค้นหาหนังสือไวยากรณ์อาหรับอย่างง่ายมาอ่านทำความเข้าใจ สิ่งที่ทำได้ ในตอนนั้นคือการฝึกท่องจำฎอมีร (คำสรรพนาม) และท่องคำศัพท์ง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น บางทีอ่านๆ ไป ก็ทำให้สับสน งุนงง แต่ก็ยังอ่านต่อไป ทั้งๆ ที่เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง จนในที่สุดก็เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

        ดิฉันยังจำได้ว่าวิชาเอกที่ลงเรียนตอนปีหนึ่งเทอมแรก คือวิชาภาษาอาหรับพื้นฐาน (General Arabic) เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นบทสนทนา ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับดิฉันมากนัก แต่พอขึ้นเทอมสองก็เริ่มเข้าวิชาเอกอย่างจิงจังในส่วนของวิชาไวยากรณ์อาหรับ 1 (Arabic Gramma I) เป็นวิชาไวยากรณ์ตัวแรกที่ดิฉันได้เรียน ยิ่งเรียนไปยิ่งรู้สึกว่ามันยาก เริ่มท้อกับตัวเองสุดๆ เลยค่ะ เพราะไม่เคยเรียนมาก่อนเลย เนื้อหาที่เรียนก็ไม่เข้าใจสักเท่าไหร่ แต่ยังดีที่มีเพื่อนเก่ง ๆ หลายคน ดิฉันเลยเข้าหาเพื่อนๆ ให้ช่วยสอน ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้ดิฉัน

        เมื่อใกล้ถึงวันสอบดิฉันกังวลสุดๆ เพราะไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหาที่เรียน หลายๆ คนคงจะเข้าใจและรู้ซึ้งถึงความยากของวิชาไวยากรณ์อาหรับ แต่กระนั้นการสอบก็ผ่านไปด้วยดี ผลออกมาได้เกรด C+ เมื่อรู้ผลสอบ มันยิ่งทำให้ดิฉันท้อใจสุดๆ ดิฉันพยายามอย่างมาก แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่ได้อย่างที่ดิฉันได้ตั้งใจไว้ ตอนนั้นได้เพียงบ่นกับตัวเองว่า “ทำไมต้องมาเรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ถนัด?” หากเลือกเรียนอย่างอื่นก็น่าดีกว่านี้ แต่ด้วยกับการที่ดิฉันรักและตั้งใจที่จะเรียนภาษาอาหรับ ดิฉันจึงกลับไปทบทวนเป้าหมายความคาดหวังในวันแรกที่ดิฉันเลือกที่จะเรียนสาขานี้ แล้วเหมือนมีแรงใจที่ทำให้มีแรงฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง ใจคิดว่า "ฉันต้องทำได้ ฉันต้องไหว ฉันต้องพูดอาหรับให้ได้"

        เราเริ่มกลับมากวดขันกับตัวเองและมีวินัยมากขึ้น อ่านหนังสือ ทบทวนบทเรียนมากขึ้นเป็นเท่าตัว อะไรที่ไม่เข้าใจก็ถามเพื่อนสนิทในกลุ่ม หมั่นเข้าหาอาจารย์มากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นดิฉันยังเปิดดูยูทูปค้นหาวิดิโอการสอนไวยากรณ์อาหรับมาเรียนรู้อยู่เรื่อย ๆ ในเรื่องที่ไม่เข้าใจ ดิฉันทำแบบนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอในทุกๆ วัน เมื่อขึ้นปีสองเทอมหนึ่ง จำเป็นต้องลงทะเบียนเรียนในรายวิชาไวยากรณ์อาหรับ (Arabic Gramma II) งานก็หนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะความยากของรายวิชา รู้สึกว่าตัวเองต้องตั้งใจมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

        เมื่อฤดูกาลสอบมาถึงอีกครั้ง ดิฉันก็ทำข้อสอบไปด้วยความกังวลอีกเช่นเคย และแล้วความพยายามก็ไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง ดิฉันเอาชนะตัวเองด้วยผลการเรียนในวิชาไวยากรณ์อาหรับเป็น B+ ซึ่งนั่นทำให้ฉันรู้สึกดีใจและมีกำลังใจเรียนภาษาอาหรับมากขึ้นอีกครั้ง

        ดิฉันมีวินัยกับตัวเองมาตลอด อาจจะมีแอบขี้เกียจบ้าง แต่ก็ไม่เคยลืมเป้าหมายในการเรียน จนกระทั่งมาถึงปีสองเทอมสอง เทอมนี้จำเป็นต้องเลือกเรียนวิชาเลือกเอกหลายหน่วยกิจ ประกอบกับความใจกล้าลงเรียนวิชาไวยากรณ์ 3 (Arabic Gramma III) ด้วยความกังวลสุด ๆ แต่ด้วยที่ดิฉันคิดว่าไวยากรณ์อาหรับสองวิชายังผ่านมาได้ เหลือแค่อีกตัวเดียวทำไมถึงจะทำไม่ได้ เลยตัดสินใจลงเรียนไป คาบแรกที่เข้าไปเรียน รู้สึกงงสุดๆ เพราะในระบบลงทะเบียนระบุชื่ออาจารย์ผู้สอนเป็นคนไทย แต่พอมาเรียนจริง ๆ กลับกลายเป็น ดร. สัญชาติซูดาน เป็นผู้สอนแทน ประกอบกับทักษะภาษาอาหรับของตัวเองก็ยังไม่แข็งพอ แล้วต้องมาเรียนไวยากรณ์อาหรับกับอาจารย์ ดร. ด้วยแล้ว จึงเริ่มกดดันตัวเองอีกครั้ง อาจารย์ ดร. ใช้ภาอาหรับสื่อสารทั้งคาบจริงๆ ซึ่งหลังจากที่ได้เรียนในคาบแรก ก็เริ่มลังเลว่าจะถอนรายวิชานั้นออกจากตารางเรียนในเทอมนั้นดีไหม? เพราะกลัวเรียนต่อไปไม่ไหว ไม่เข้าใจในบทเรียน ประกอบกับอาจารย์ใช้ภาษาอาหรับในการสอนอีก ยิ่งทำให้เครียด แต่ด้วยความดื้อดึงและความอยากลองสิ่งใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม เลยตัดสินใจไม่ถอนและเลือกที่จะสู้เรียนต่อไป

        ตลอดช่วงเวลาที่เรียนไวยากรณ์อาหรับ 3 บอกเลยว่าเครียดและกังวลสุดๆ แต่ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ จึงทำให้ดิฉันต้องเพิ่มความขยันขันแข็งให้มากขึ้นเป็นอีกหลายเท่าตัว หมั่นเข้าหาอาจารย์ สิ่งใดที่ไม่เข้าใจก็เข้าหาเพื่อนให้ช่วยอธิบาย บวกกับช่วงเวลานั้นเพื่อนที่เรียนเก่งที่สุดในห้องก็ดันไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศบาห์เรน ดิฉันถึงขั้นต้องวีดิโอคอลไปหาเพื่อนให้ช่วยติว เพื่อนคนนี้ดีมาก ๆ ไม่เคยปฏิเสธและเต็มใจสอนให้ดิฉันในทุกครั้ง (อันนี้ต้องขอบคุณเพื่อนรักคนนี้มากๆ เลยค่ะ) สุดท้ายด้วยความพยายาม ไม่เคยทำให้คนเราผิดหวังจริง ๆ ผลการสอบในรายวิชาไวยากรณ์อาหรับ 3 ผลออกมาเป็น A มันทำให้ดิฉันตื้นตันใจกับความสำเร็จของตัวเองสุดๆ

        จนในที่สุดดิฉันก็เรียนจบมหาลัย สาขาภาษาอาหรับและภาษาอาหรับธุรกิจ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ซึ่งมันเหมือนฝันมากๆ สำหรับดิฉัน ฉันมาไกลมากๆ เมื่อเทียบกับฉันในวันแรกเริ่ม

        สุดท้ายนี้ดิฉันหวังว่าบทความเรื่องเล่าสร้างแรงบันดาลใจของดิฉัน คงทำให้ใครหลายๆ คนที่กำลังตัดสินใจที่จะเริ่มเรียนภาษาอาหรับหรือเรียนอยู่แล้วนั้นมีกำลังใจมากขึ้น ไม่มีคำว่า “ยาก” ในพจนุนุกรมของคนเพียร และไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของตัวเราหรอก ถึงแม้ว่าดิฉันจะเรียนเพียงแค่มหาลัยในประเทศไทย ไม่ใช่คนที่พูดอาหรับมาตั้งแต่กำเนิด และไม่เคยแม้กระทั่งไปสัมผัสสิ่งแวดล้อมแบบอาหรับ แต่ดิฉันก็สามารถเรียนรู้ภาษาอาหรับได้ ดิฉันเชื่อว่าการเรียนภาษาอาหรับเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินความสามารถของคนเรา

        ดิฉันเชื่อว่าต่อให้เรามีเทคนิคการเรียนอยู่มากมายเพียงใดในมือ หากแต่ไม่ลงมือทำมันอย่างจริงจัง เทคนิคเหล่านั้นก็ไร้ซึ่งประโยชน์ น้อยคนนักที่จะเริ่มต้นเรียนรู้ภาษาด้วยการเสริมสร้างแรงบันดาลใจ หลายคนหมด Passion ระหว่างทางเดิน ถึงวันนั้นต่อให้เรียนภาษาใดในโลกก็ไม่มีทางบรรลุซึ่งความสำเร็จอยู่ดี

        ดิฉันได้พิสูจน์แล้วว่า ภาษาอาหรับไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากเราตั้งใจจริง ขอให้จำไว้เสมอว่า
 "من جد وجد " 
อ่านว่า: มัน ญัดดา วะ ญะดา
"ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น" 




พรรณิดา บุญสัน - เขียน
รอเชด บูเดียะ - พิสูจน์อักษร  {fullWidth}




แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า