เรียงความ "เรื่องเล่าผ่านภาษาอาหรับของฉัน" รางวัลชนะเลิศ

แวฟาดีละห์  เจ๊ะยะ  I เขียน
ภาษาอาหรับ เป็นภาษาหนึ่งที่มีความเก่าแก่ และมีผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นภาษาที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจ นอกจากนั้นแล้วภาษาดังกล่าวยังเป็นภาษาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกให้เป็นสื่อกลางในการนำศาสน์แห่งทางนำแก่มนุษยชาติ  นั่นคือ “ภาษาแห่งคัมภีร์อัลกุรอาน” นั่นเอง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์แบบแก่มนุษย์ชาติ และฉันถือเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สนใจในภาษาอาหรับด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น อัลฮัมดุลิลลาฮ! : ขอสรรเสริญต่ออัลลอฮฺที่ฉันมีโอกาสได้มาฝึกฝนภาษาอาหรับ ณ ที่นี่ “ประเทศจอร์แดน” ประเทศที่ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษากลางในการสื่อสาร จอร์แดนเป็นหนึ่งในประเทศที่ฉันใฝ่ฝันอยากจะมาฝึกฝนการพูดภาษาอาหรับกับเจ้าของภาษา และเป็นประเทศที่ฉันคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ภาษาอาหรับได้ดีสำหรับฉัน เพื่อที่จะสามารถฟังชาวอาหรับพูดได้อย่างเข้าใจ และสามารถพูดภาษาสื่อสารอาหรับให้ได้ดั่งเช่นชาวอาหรับ

ประสบการณ์การใช้ภาษาอาหรับของฉัน เกิดขึ้น ณ แผ่นดินชาร์ม ที่ปัจจุบันถูกเรียกว่า ประเทศจอร์แดน ครั้งหนึ่งยังจำได้ ที่ตลาดสดในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ครึกครื้นด้วยผู้ซื้อ และผู้ขายมากหน้าหลายตา เสียงตะโกนเรียกลูกค้าของพ่อค้าทั้งวัยเด็ก วัยหนุ่ม และวัยแก่ ดังก้องใกล้ใบหู ฉันได้ยินพวกเขาตะโกนว่า บียารอ บียารอ , เตนเต๊น เตนเต๊น ฉันไม่รู้เลยว่ามันแปลว่าอะไร และไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไป ฉันเก็บคำพวกนี้เอาไว้ในความจำเป็นอย่างดี เพื่อนำไปสอบถามผู้รู้ว่ามันแปลว่าอะไรกัน และฉันอดที่จะร้อง อ๋อ ไม่ได้ เมื่อรู้คำตอบว่า บียารอ คือ บิดดีนาร์(بدينار)  และคำว่า เตนเต๊น นั้นคือ อิสนีน(اثنين) นั่นเอง นี่คงเป็นภาษาอาหรับท้องถิ่น ที่เพี้ยนมาจากภาษาอาหรับทางการ และยังมีภาษาถิ่นอีกมากมายหลายคำ ที่ฉันไม่คุ้นหูเลย และต้องพยายามเรียนรู้ต่อไป และวันหนึ่งฉันเดินเข้าร้านเครื่องสำอางแห่งหนึ่ง หวังเพื่อจะซื้อโลชั่น คำถามแรกที่ถามพ่อค้า ผ่านไปด้วยดี เพราะคำว่าโลชั่น ฉันสามารถใช้คำทับศัพท์ได้ คนอาหรับฟังแล้วเข้าใจ แต่แล้วเกิดอุปสรรค์ขึ้นจนได้ เมื่อโลชั่นมีแต่กระปุกใหญ่ ฉันนึกศัพท์อยู่ครู่หนึ่ง แล้วเอ่ยปากถามว่า هل يوجدأصغرمني؟ (มีขนาดเล็กกว่าฉันไหม) อย่างมั่นใจ แต่คำตอบที่ได้รับจากผู้ฟังไม่ใช่คำว่า มี หรือ ไม่มี แต่กลับเป็นเสียงหัวเราะแทน พร้อมคำว่าهذاأصغرمنكِ؟ (นี่แหล่ะขนาดเล็กกว่าตัวคุณ) ฉันเพิ่งรู้ตัวว่าตัวเองพูดผิดก็เมื่อตัวเองกลายเป็นตัวตลกเสียแล้ว และประสบการณ์ครั้งนี้สอนให้ฉันรู้ว่า การใช้ ฎอมีร (ضمير) นั้นมีความสำคัญต่อเราไม่เบาเลย และอีกประสบการณ์หนึ่ง ขณะไปจ่ายตลาด ฉันแวะร้านขายผัก หวังเพื่อจะซื้อแครอทแค่ไม่กี่ผล แต่มันไม่ง่ายเลยสำหรับฉัน ผู้ซึ่งอ่อนด้านภาษาอาหรับ และการใช้อวัจนภาษาจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการสื่อสารในครั้งนี้ ฉันชี้นิ้วไปยังแครอท และมีคำถามจากพ่อค้า ซึ่งฉันพอจะเดาออกว่า เขาถามว่าต้องการเท่าไร กี่กิโล ฉันได้แต่พยักหน้า และพยายามบอกว่าฉันต้องการแค่ห้าผล พร้อมทำท่าประกอบ แต่ผู้ขายไม่ยอมเข้าใจฉันเสียที เขาถามสวนกลับมา และพยายามพูดให้ฉันเข้าใจ ฉันได้แต่ทำหน้างงๆ และสุดท้ายเขาก็หยิบแครอทมาส่วนหนึ่งแล้วเอาใส่ถุง และยื่นให้ฉัน ฉันรับถุงพลาสติกใบนั้น และควักธนบัตรจ่ายให้ แต่พ่อค้าคนนั้นปฏิเสธ พร้อมกับกล่าวว่า"  "مجانا และบอกอีกว่า انتِ مسكينة"  "ฉันรู้สึกปลื้มที่คนอาหรับช่างใจดีให้แครอทฟรี แต่ก็ยังคงรู้สึกงงกับคำพูดของเขา     "مسكينة" อย่างนั้นหรือ? เขาหาว่าเรายากจนได้อย่างไร ในเมื่อฉันถือธนบัตรอยู่ในมือตั้งหลายใบ แต่หารู้ไม่ว่า คำว่า مسكين นั้นหมายความว่า น่าสงสาร ไม่ได้หมายความว่า "ยากจน" อย่างที่ฉันเคยเข้าใจมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

      การใช้ภาษาอาหรับในการสื่อสารนั้น เป็นเรื่องที่ถือว่าค่อนข้างยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาหลัก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติทั่วไป เมื่อวันหนึ่งเราได้มีโอกาสมาพูดคุยกับชาวอาหรับ และเกิดมีอุปสรรคมากมายจากการสื่อสาร ทั้งการพูดที่ไม่ค่อยชัดถ้อยชัดคำมากนัก จนทำให้คนฟังฉงนเป็นบางครั้ง  การฟังคำพูดอันช่ำชองและรวดเร็วของเจ้าของภาษา ที่เราอาจเข้าใจผิดเพี้ยนไปหรืออาจจะไม่เข้าใจเลย และที่สำคัญคือ การใช้คำสรรพนามที่ผิดที่ ผิดกับบุคคล ซึ่งทำให้การสื่อความหมายผิดเพี้ยนไปและอาจได้เสียงหัวเราะตอบกลับมาจากผู้ฟังเพราะ ทุกการเริ่มต้นนั้นยากเสมอ ดังนั้นอุปสรรคเหล่านี้ จะเกิดขึ้นเพียงช่วงเริ่มต้นของการพูดเท่านั้น และจะเริ่มจางหายไป เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเราเริ่มคุ้นชินกับการใช้ภาษาอาหรับ และสิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ การเปิดใจ เปิดรับโอกาส และพยายามหาโอกาสที่จะนำภาษาอาหรับมาใช้ กล้าที่จะพูด แม้จะไม่ถูกต้องตามหลักการมากนักก็ตาม เพราะแท้จริงแล้ว การสื่อสารที่ถือว่าประสบผลนั้น คือการสื่อสารที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันนั่นเอง 


**อ่านเรียงความเสร้จเเล้ว อย่าลืมคอมเม้นต์ด้านล่างกันด้วยนะครับ - แอดมิน
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า