"คูเวต" เรื่องเล่าผ่านความประทับใจ โดย พี่เอ ศุภสิทธิ์


ก่อนเข้าเรื่องอยากจะให้ท่านผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับประเทศนี้กันสักนิดนะครับ ...
คูเวตหรือชื่อเป็นทางการ คือ รัฐคูเวต (دولة الكويت‎) มีนครหลวงชื่อว่า คูเวตซิตี้ (
مدينة الكويت) เป็นประเทศเล็กๆ ที่ปกครองด้วยเจ้าผู้ครองนครรัฐ (Emirat) เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันมหาศาล ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ริมชายฝั่งอ่าวเปอร์เซีย มีพรมแดนทางใต้ติดกับประเทศซาอุดีอาระเบีย และพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศอิรัก 
หลังจากได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นของประเทศเล็กๆ ที่ชื่อว่า "คูเวต" ไปเเล้ว ก็ถึงเวลาที่ผมจะมาบอกเล่าถึงความประทับใจเกี่ยวกับประเทศคูเวตกันหน่อยน่ะครับ ด้วยข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เผื่อจะมีประโยขน์ให้กับท่านผู้อ่านได้บ้าง ไม่มากก็น้อย (ขอเอ่ยปากบอกก่อนเลยนะครับว่า - ทุกเรื่องราวที่นำมาถ่ายทอด เป็นข้อมูลที่ได้ทำการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าของประเทศและคนรู้จัก)
เรื่องแรกที่ประทับใจมากก็คงจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลประเทศนี้ให้ความทุ่มเทกับการศึกษาและเรื่องคุณภาพของคนมากถึงมากที่สุดก็ว่าได้ ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดๆ คูเวตในตะวันออกกลางก็เหมือนกับสิงคโปร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่เมื่อแรกลงทุนมหาศาลกับทรัพยากรมนุษย์ เมื่อคนดีแล้ว มนุษย์ที่มีคุณภาพก็จะไปพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ว่าไปแล้วคูเวตมีน้ำมันน้อยกว่าประเทศอิรักซะอีก แต่ทำไมอิรักยังยากจน ในขณะที่คูเวตเป็นประเทศไม่ใช่แค่มหาเศรษฐี แต่เท่าที่ได้เห็นและสัมผัสด้วยตาของตัวเองต้องเรียกว่าอภิมมหาเศรษฐี อันนี้อยู่ที่การจัดการและระบบการปกครองของเขาน่ะครับ

เรื่องที่สองที่ประทับใจก็เรื่องทางสวัสดิการทางสังคมของประเทศนี้ ที่จัดระเบียบแบบแผนได้อย่างลงตัว ในกรณีที่หนุ่มคูเวตคนไหนจะไปสัญญาว่าจะแต่งงานกับสาวคูเวตคนไหน เฉพาะเชื้อชาติคูเวตนะครับ (เน้นน่ะครับว่าต้องเป็นสาวคูเวตเท่านั้น) วันต่อมาสามารถไปรับเงินจากรัฐบาลประมาณ 4,000 KWD (1 KWD = 125-130 บาท) ก็เกือบ 5 แสนบาทไทย เพื่อเอาไปซื้อเสื้อผ้าและจัดพิธีแต่งงาน 2,000 KWD นี่คือส่วนแรก ส่วนส่วนที่สอง รัฐบาลให้เป็นของขวัญ อีก 2,000 KWD แล้วก็ค่อยทยอยจ่ายคืนรัฐบาลเดือนละ 10 KWD (ราวๆ 1,250 บาท) โดยที่ไม่มีดอกเบี้ย

โรงพยาบาลที่นี่ฟรีทุกแห่ง ค่าผ่าตัด หมอตา หมอฟัน ฟรีทั้งนั้น การศึกษาตั้งแต่อนุบาลยันปริญญาเอกก็ไม่ต้องเสียสตางค์ แถมรัฐบาลจ่ายค่าเดินทางค่าหนังสือตำราให้ซะอีก!!!!! คนที่อยากไปเรียนเมืองนอกรัฐก็มีทุนให้ (โอ้ว!!!!แม่เจ้า) พาลูกเมียไปได้เลย รัฐบาลมีเงินเดือนให้ทุกคนที่เดินทางไปกับคุณ 

ส่วนใครที่คิดอยากจะมีบ้าน ถ้าเงินเดือนต่ำกว่า 400 KWD ก็ให้ไปทำเรื่องยื่นเอกสารบอกรัฐบาล รัฐบาลจะสร้างบ้าน 2 ชั้น ขนาดมีพื้นที่ใช้สอย 300 ตร.ม. ให้ และในขณะที่กำลังรอรัฐบาลสร้างบ้าน รัฐก็ให้เงินฟรีๆ อีกเดือนละ 200 KWD เพื่อเช่าอพาร์ตเมนท์อยู่ไปก่อน จะเช่าจริงหรือรับเงินแล้วจะไปอยู่กับพ่อแม่ก็แล้วแต่ เงินที่ให้ไปเช่าอพาร์ตเมนท์ระหว่างรอนี่ให้ฟรีอีก!!!!!! ส่วนค่าบ้านที่รัฐสร้างให้ต้องจ่ายคืนเดือนละ 40 KWD (ราวๆ 5,000 บาท) ไม่มีดอกเบี้ยอีกเหมือนกัน (ย้ายไปปักหลักที่นั่นกันดีกว่า หุหุหุหุ)

ส่วนในกรณีคนที่มีเงินเดือนมากกว่า 400 KWD รัฐก็จะให้ที่ดิน 500 ตร.ม. ( ซึ่งประทศนี้มีเนื้อที่เพียง 17,818 ตร.กม.หรือเทียบเท่าจังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้นเอง หากมองจากแผนที่จะเห็นได้ว่าเป็นประเทศเล็ก ๆ อยู่ตรงมุมของอ่าวเปอร์เซียพอดี นั่นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศอิรักบุกโจมตีคูเวตในปีค.ศ.1995 ) พร้อมให้ยืมเงินอีก 60,000 KWD ( 7,500,000กว่าบาท) โดยผ่อนคืนเดือนละ 100 KWD (ประมาณ 12,500 บาท) ไม่มีดอกเบี้ย!!!!! ใครไม่พอก็ไปกู้เพิ่มเติมเอาจากธนาคาร ธนาคารในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามไม่มีดอกเบี้ย เพราะผิดหลักศาสนา

คนคูเวตไม่รู้จักคำว่าภาษี ทั้งประเทศไม่มีการเก็บภาษี ทั้งชีวิตของผู้คนที่นี่จึงแทบไม่มีความทุกข์อะไรเลย(เท่าที่เห็นมาน่ะครับ เขาอาจจะมีทุกข์ก็ได้ เพียงแต่เราไม่เห็นเอง)  ส่วนงานระดับล่างก็จ้างคนต่างชาติมาทำ คูเวตมีประชากรประมาณ 3.4 ล้านคน แต่ เป็นชาวคูเวตแค่เพียง 45% หรือไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ กับชาวอาหรับอื่น ๆ 35% เอเชียใต้(อินเดีย/ศรีลังกา/บังกลาเทศ) 9% อิหร่าน 4% และนอกจากนั้นยังมีชาวฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน มีคนอินเดียกับอียิปต์เข้ามาทำงานชาติละประมาณ 2 แสนคน คนบังคลาเทศกับศรีลังกาประมาณชาติละ 1 แสน พวกฟิลิปปินส์มีมากกว่า 7 หมื่น สำหรับคนไทยมีน้อยมาก เพราะว่าหลังจากอิรักบุกคูเวต พอพี่ไทยเราได้เงินชดเชยสงครามกันคนละเกือบแสนบาทก็พากันกลับบ้านหมด ตอนนี้ทั้งประเทศมีคนไทยประมาณ 3 พันกว่าคนเท่านั้น หรืออาจจะมีมากกว่านี้ หรือน้อยกว่านี้

ตั้งแต่คูเวตขุดเจอน้ำมัน รัฐบาลคูเวตก็ได้ให้เงินช่วยเหลือชาติต่างๆ มาก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรายได้ของรัฐแล้ว มากกว่าที่สหรัฐอเมริกา(ที่ชอบเอาหน้า)ช่วยชาติต่างๆ เสียอีก เงินกู้ก็ให้เยอะ โดยมากให้เพื่อใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน หรือไม่ก็พัฒนาทางสังคมและการศึกษา ส่วนอุปนิสัยคนคูเวตก็คล้ายๆกับคนไทย(อันนี้ความรู้สึกส่วนตัวนะครับ) ชอบอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ เอะอะมะเทิง เสียงดัง แต่ไม่มีอะไรในกอไผ่ ข้อเสียคือ ใช้เงินเปลือง ถึงเปลืองมาก คิดว่าเงินบันดาลได้ทุกอย่าง ใช้สินค้าฟุ่มเฟือย ขับรถแพงๆหรูๆ (ว่าไปมันก็เงินของเขา เราไม่เกี่ยวนี่หว่า) สรุปโดยรวมแล้วคูเวตเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจมาก และถ้าหากรัฐบาลไทยสามารถจัดการระบบให้เหมือนกับประเทศนี้ ได้สักเพียงเล็กน้อย ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยคงจะมีความสุขมากกว่านี้น่ะว่ามั้ยครับ?



Kuwait Towers yard



Photo Cr: https://www.flickr.com/photos/khalid-almasoud


About Author :

เอ ศุภสิทธิ์ นากสวาสดิ์|  แขกรับเชิญพิเศษ
ปริญญามหาบัณฑิต สาขาภาษาและวัฒนธรรมยุโรปตะวันออก
มหาวิทยาลัย Gent Universiteit, ประเทศเบลเยี่ยม
Follow him @ | Facebook
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า